David Risher ชื่นชอบ และหลงใหลการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เขาจำความได้ เพราะหนังสือเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้เขาได้ผจญภัยไปยังสถานที่ต่างๆ และได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก หนังสือเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มการศึกษาให้กับเขา และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจ ย้ายชีวิตการทำงานจาก Microsoft มาที่ Amazon.com
ในระหว่างที่เขาอยู่กับ Amazon.com เขาเป็นคนสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างก้าวกระโดด จาก 16 ล้านเหรียญ สู่ 4 พันล้านเหรียญ จนได้รับตำแหน่งเป็นรองประธานอาวุโสของ Amazon.com ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของเขา ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกในปี 2545 เพื่อเข้าสู่สายอาชีพการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และอาสาสมัครต่อไป
แม้ Risher จะลาออกไปแล้ว แต่การสร้างประวัติศาสตร์ของเขาได้รับการสรรเสริญจากทุกคนในองค์กร รวมไปถึง Jeff Bezos, CEO และผู้ก่อตั้ง Amazon.com, ถึงขนาดที่ว่า ในหน้า Site-directory ของเว็บ Amazon.com จะมีลิงค์ลับ (Easter Egg) เพื่อเข้าสู่จดหมายขอบคุณที่เขียนโดย Jeff Bezos โดยที่ระบุเอาไว้ว่า ลิงค์นี้จะเป็นลิงค์ที่จารึกเอาไว้อยู่ตลอดกาล (Perpetuity) เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำเร็จของเขา
เขาตัดสินใจเดินทางไปเป็นอาสาสมัครในประเทศต่างๆ ที่กำลังพัฒนา และเริ่มค้นพบว่า การอ่านยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก อย่างเช่นที่ประเทศเอกวาดอร์, เขาพบว่าห้องสมุดที่มีหนังสือเรียงเป็นตั้งๆ ถูกปิดและล็อคไว้ในอาคารหลังหนึ่ง เมื่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนนั้น เขากลับได้รับคำตอบว่า “ใช่, มันเป็นห้องสมุดของเรา แต่ฉันคิดว่า ฉันทำกุญแจมันหายไปแล้วหละ”
มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อุปกรณ์การอ่านหนังสืออย่าง kindle เริ่มเข้าสู่ตลาด ซึ่งทำให้โครงการของเขาเริ่มตกตะกอน ด้วยราคาของเทคโนโลยีที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความสามารถที่ทำให้เด็กมีโอกาสเลือกหนังสืออ่านเองได้อย่างหลากหลาย และมีความสะดวกสบาย สิ่งเหล่านี้ จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้คนไปทั่วโลก ณ เวลานั้นเอง องค์กร Worldreader ถือกำเนิดขึ้น
Worldreader เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ได้รับเงินจากการบริจาค และความร่วมมือของพันธมิตรต่างๆ รวมไปถึง Amazon.com โดยดำเนินงานบนพันธกิจขององค์กร ที่ก่อตั้งเพื่อเผยแพร่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไปยังกลุ่มเด็กๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะเชื่อว่า การอ่าน จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านั้น และลดปัญหาของการขนส่งให้หมดสิ้นไป
ความไม่พร้อมของถนนหนทาง หรือ สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ทำให้การขนส่งมีต้นทุนสูง, มีความยากลำบาก และใช้เวลานาน ในการกระจายความรู้แบบดั้งเดิม ที่ต้องพึ่งพาเส้นทางคมนาคม แต่เทคโนโลยีในปัจจุบัน จะช่วยกำจัดปัญหาเหล่านี้ออกไปหมดสิ้น ดังเช่น โครงการ WiMax IT Valley ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนของบ้านเรา
วันที่ 14 มีนาคม 2553, เป็นวันที่ Risher ตัดสินใจเริ่มโครงการ และลงสนามจริงในเมือง Ayenyah ประเทศกาน่า ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาเรื่องระบบคมนาคมอย่างมาก ตั้งแต่การเข้าถึง และการซ่อมบำรุง เพราะกระทรวงคมนาคมของประเทศกาน่า มีพนักงานเพียง 4 คน โดยใช้รถ Land Cruiser และรถกระบะอย่างละคัน เพื่อตรวจสอบและซ่อมแซมถนน 60,000 กิโลเมตร ทั่วประเทศ
Risher ใช้เวลาในวันนั้น อยู่กับเด็ก 20 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ถึง 26 ปี เพื่อสอนการใช้งาน kindle เบื้องต้น และปล่อยเวลาที่เหลือ ให้เด็กเหล่านั้นอยู่กับหนังสือในเครื่องที่เตรียมไว้ เพื่อรอดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่าง เด็กในประเทศที่กำลังพัฒนา กับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลกในตอนนั้น
เป็นไปตามที่ Risher คาดไว้, เด็กเหล่านั้นให้การตอบรับดีมาก เขาสนใจหนังสือหลากหลายแนว ตั้งแต่หนังสือชุดเด็กอย่าง Magic Tree House ไปจนถึง หนังสือที่จัดทำโดยเฉพาะอย่างเช่นเรื่องฟุตบอลของชาวกาน่า เด็กเหล่านั้นก็เหมือนกับพวกเรา ที่ชอบอ่านในสิ่งที่เชื่อมโยงกับเราได้ หรือสนุกกับมัน จริงไหม?
ความสามารถต่างๆ ใน kindle รุ่นล่าสุดนี้ ก็เป็นที่ชื่นชอบ และมีประโยชน์กับเด็กเหล่านั้นมาก ไม่ว่าจะเป็น พจนานุกรมในเครื่อง หรือระบบ Text-to-speech ที่ช่วยทำให้เด็กๆ ฟังเสียงจากการอ่าน แทนที่จะอ่านด้วยตนเองได้
จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ปี 2553, Risher ตัดสินใจสานโครงการต่อเต็มรูปแบบ ด้วยการแจก kindle จำนวน 600 เครื่อง ที่ได้รับการบริจาคจาก Amazon.com และหนังสืออิเล็กทรอกนิกส์ จำนวน 20,000 เล่ม ไปยังเด็ก 1,000 คนในกาน่า โดยใช้ชื่อโครงการนี้ว่า iREAD (Impact on Reading of E-Readers And Digital content) บนจุดประสงค์หลัก 4 ข้อ ดังนี้
- เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงจำนวนหนังสือ และความหลากหลายของหนังสือ
- เพื่อเพิ่มความสามารถในการทดสอบด้านการอ่านและเขียนภาษาอังกฤษ
- เพื่อลดระยะเวลาที่ใช้รออุปกรณ์ประกอบการเรียน
- เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิต, แปล และกระจายของอุปกรณ์ประกอบการเรียน
Worldreader ได้ประเมินผลการศึกษาของโครงการ iREAD และสรุปออกมาเป็นรายงานเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ซึ่งผลการศึกษาเป็นที่น่าตกใจในหลายๆ ด้าน เรื่องของการขโมยหรือสูญหายของเครื่อง มีค่าใกล้เคียงศูนย์ (มีเพียง 2 เครื่อง จาก 600 เครื่องที่หายไป) เด็กๆ สามารถเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น จากไม่เกิน 10 เล่ม เป็น 107 เล่ม จากผู้สนับสนุนต่างๆ ที่บริจาคหนังสือฟรีแก่โครงการ และผลการทดสอบด้านภาษาอังกฤษของกลุ่มที่ใช้ kindle ก็เพิ่มขึ้น 12.9% ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช้ kindle เพิ่มเพียง 8.1% เท่านั้น นอกจากนี้ kindle ยังส่งผลแฝงอื่นๆ ให้กับเด็กๆ อีกด้วย เช่น เพิ่มความกระตือรือร้นในการอ่าน หรือ เพิ่มวัตถุดิบในการสอนให้กับเหล่าอาจารย์
ปัญหาเดียวของโครงการนี้ น่าจะเป็นเรื่องความเสียหายของเครื่องจากการตก โดยตัวเลขของเครื่องที่ตกแล้วพังอยู่ที่ 40.5% ของเครื่องทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ ได้มีการดำเนินการแก้ไขไปแล้วในหลายวิธี เช่น เพิ่มหลักสูตรอาชีพในการซ่อมแซมเครื่อง kindle, การใส่เคสป้องกันเพิ่มเติม และมีการเพิ่มมาตรฐานของการผลิตจอภาพที่ได้คุณภาพมากขึ้นอีกด้วย (ล่าสุดตัวเลขของความเสียหายอยู่ที่ 19%)
เห็นแบบนี้แล้ว โครงการ OTPC (One-Tablet-Per-Child) ควรจะเปลี่ยนเป็น OKPC (One-Kindle-Per-Child) หรือไม่นะ?
ที่มา :
- http://www.worldreader.org/uploads/Worldreader%20ILC%20USAID%20iREAD%20Final%20Report%20Jan-2012.pdf
- http://www.its.leeds.ac.uk/people/alumni/country-profiles/ghana/
- http://www.worldreader.org/blog/2010/03/14/report-from-ghana/
- http://online.wsj.com/article/SB10001424052702303768104577462683090312766.html?mod=WSJ_hps_editorsPicks_3
- http://www.worldreader.org/what-we-do/
- http://blogs.wsj.com/digits/2010/08/05/nonprofit-tries-one-kindle-per-child-in-ghana/
- http://gigaom.com/2012/04/27/worldreader-kids-e-readers-kindles/
- http://www.nbcnews.com/technology/technolog/kids-ghana-learn-quickly-kindle-739509
- http://www.worldreader.org/about-us/history/
- http://www.worldreader.org/blog/2012/06/08/how-we-decreased-our-breakage-rate/