KINDLE’S WAY: บทความที่เล่าเบื้องลึกของ kindle และ Amazon อย่างเข้มข้น สำหรับ kindle Power User ไม่ควรพลาด!! พบกันได้ได้ที่นิตยสาร GM ครับ [อ่านตอนอื่นๆ ได้ที่นี่เลย]
ในโลกของอะตอม โลกที่เราอยู่กับสิ่งของที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า สิ่งของต่างๆ เหล่านี้ ย่อมมีการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เกิดเป็นร่องรอยของการใช้งาน ถึงแม้ว่าเราจะทะนุถนอมเอาไว้อย่างดีเพียงไรก็ตาม เราก็ยังมีรอยขีดข่วนบนอุปกรณ์พกพาต่างๆ รอยยับและคราบกาแฟตามหน้าหนังสือ นี่คือเรื่องธรรมดาที่เราพบเจอจนคุ้นชินในโลกทุกวันนี้
แต่ในโลกดิจิตอล โลกที่สิ่งของต่างๆ ถูกเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการบันทึกข้อมูลให้กลายมาอยู่ในรูปแบบของ “ไฟล์” จากวิดีโอเป็นม้วนๆ เพลงที่อยู่ในเทปคาสเซ็ต หรือหนังสือเป็นเล่มๆ เริ่มทิ้งรูปลักษณ์เดิมๆ ของมัน ผันตัวเองกลายมาเป็นหน่วยความจำที่เนื้อแท้มีเพียงเลข 1 และ 0 เปรียบได้กับยาอายุวัฒนะ ที่ทำให้ข้อมูลทุกชิ้นอยู่ยงคงกระพัน ไม่บุบสลาย ไร้กาลเวลา ทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้บริโภคที่สามารถใช้งานสินค้าดิจิตอลได้ตลอดกาล (จริงหรือ?) แต่กลับสร้างปัญหาให้กับผู้ผลิตที่ต้องพยายามกำหนดขอบเขตสิทธิการใช้งานของผู้บริโภคเอาไว้อย่างรัดกุมเพื่อรักษาผลประโยชน์
หนึ่งในประเด็นใหญ่ๆ ที่เกิดปัญหามานับครั้งไม่ถ้วน และสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ และกฎหมายทิ้งเอาไว้มากมายในสังคม นั่นก็คือเรื่องของ “สินค้าดิจิตัลมือสอง”
บ้าน รถยนต์ โทรศัพท์ ล้วนมีตลาดซื้อขายสินค้ามือสองกันทั้งสิ้น และโดยทั่วไป สินค้ามือสองเหล่านี้ ก็จะตั้งราคาที่ถูกกว่าสินค้ามือหนึ่ง ลดหลั่นไปตามสภาพของสินค้า ผู้ซื้อที่ยอมรับความเสี่ยงและตำหนิของสินค้าเหล่านี้ได้ ก็จะเลือกซื้อสินค้ามือสองที่ตนเองต้องการ ส่วนกลุ่มที่เหลือ ก็เลือกซื้อของใหม่แกะกล่องกันไป ทุกอย่างสมเหตุสมผล
แต่ไม่ใช่ในโลกของดิจิตัล โลกที่สินค้าเหล่านี้ สามารถคงความสดใหม่เอาไว้ได้ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงว่าจะผ่านการใช้งานไปมากเพียงใดก็ตาม จึงทำให้บริษัทต่างๆ ตกอยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน เพราะยิ่งจำนวนเม็ดเงินที่ไหลเวียนในตลาดสินค้าดิจิตัลมือสองเพิ่มมากขึ้นเท่าใด ยิ่งทำให้บริษัทนั้นๆ เสียหายมากขึ้นเท่านั้น จึงเกิดการสร้าง “ข้อตกลงและสิทธิการใช้งาน” (License Agreement) ขึ้นมา ซึ่งระบุเอาไว้โดยย่อว่า สิทธิของความเป็นเจ้าของตัวสินค้ายังตกเป็นของบริษัทผู้ผลิต ผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้วนั้น จะได้เพียงสิทธิของการใช้งาน ซึ่งไม่รวมถึงสิทธิของการเปลี่ยนมือ ปล่อยเช่า การทำซ้ำ ดัดแปลงแก้ไขใดๆ
สิทธิเหล่านี้หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ เพราะมันแฝงตัวอยู่ในขั้นตอนการติดตั้งโปรแกรมยาวเหยียดเป็นหน้าๆ ที่เรามักกด Agree และ Next ไปอยู่เสมอๆ แต่หากจะสรุปให้กระชับก็คือ “เราจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์ แต่เราไม่ได้สิทธิความเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์” หากว่ากันตามสิทธินี้แล้ว แม้ไฟล์ดิจิตัลจะไม่บุบสลาย แต่มันจะตายไปพร้อมกับผู้ใช้งาน ไม่ได้คงอยู่ตลอดไปอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น
จึงเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องต่างๆ มากมาย อย่างเช่น คดีระหว่างบริษัท AutoDesk ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ AutoCAD ที่ฟ้องร้อง นายทิโมธี เวอร์เนอร์ พ่อค้า E-Bay ที่นำโปรแกรม AutoCAD มาตั้งประกาศขายไว้ ซอฟต์แวร์ดังกล่าวเป็นของมีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ซึ่งนายทิโมธีซื้อต่อมาจากบริษัทที่ยกเลิกการใช้งานซอฟต์แวร์ตัวนี้ เพราะเพิ่งปรับรุ่นเป็นเวอร์ชั่นใหม่ไป แต่ AutoDesk ยืนยันว่า การกระทำนี้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน เพราะทั้งตัวบริษัท และนายทิโมธีต่างไม่ใช่เจ้าของซอฟต์แวร์ ในขณะที่ฝ่ายเวอร์เนอร์เองก็ยก “หลักการขายครั้งแรก” (First-sale Doctrine) มาโต้ตอบ ซึ่งว่าด้วยสิทธิการใช้งานสินค้าต่างๆ ทั้งหมดนั้น จะตกอยู่กับผู้บริโภคทันทีหลังเกิดการซื้อขาย นั่นหมายถึง เขาสามารถนำไปใช้งาน ทำลาย ขายต่อ หรือบริจาคก็ได้ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับเวลาที่เราซื้อรถยนต์ หรือหนังสือนั่นเอง
การต่อสู้จบลงที่ศาลอุทธรณ์ โดยให้ยึดตามข้อตกลงการใช้งานของบริษัท AutoDesk ที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก ว่าการจำหน่ายซอฟต์แวร์ มิใช่การให้สิทธิครอบครอง แต่เป็นสิทธิการใช้งาน เมื่อผู้ซื้อไม่ใช่เจ้าของสินค้า ก็ไม่มีสิทธิในการขายต่อแต่อย่างใด เป็นการผิดข้อตกลงในการใช้งาน และไม่สามารถนำหลักการขายครั้งแรกมาอธิบายในกรณีนี้ได้
แต่แม้ผลการตัดสินจะออกมาเป็นเช่นไร คำถามต่อความยุติธรรมและความสมเหตุสมผล ก็ยังคงเคลือบแคลงใจผู้บริโภคในสังคมอยู่ตลอดเวลา เพราะแม้เราจะได้ใช้งานจริง แต่ก็ยังขาดความเป็นเจ้าของ ให้ฟังดูกีที่ ก็ไม่ทำให้รู้สึกเป็นธรรมชาติเอาซะเลย เมื่อสังคมถามหาความยุติธรรม เว็บไซต์อย่าง ReDigi.com จึงก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเพื่อปลดพันธนาการเดิมๆ และแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการทำตลาดซื้อขาย “ไฟล์เพลงมือสอง” ยืนองอาจประจันหน้ากับกฎหมาย และค่ายเพลงอย่างท้าทาย
แผลเก่าของธุรกิจเพลงที่เคยฝากเอาไว้จากการรุกล้ำของอินเตอร์เน็ต และ MP3 ยังคงบอบช้ำอยู่ไม่ทันหายดี ก็โดนซ้ำเติมจากตลาดสินค้าดิจิตัลมือสองอีกครั้ง ค่ายเพลงอย่าง Capitol’s Record จึงต้องรีบสกัดดาวรุ่ง จนเกิดการฟ้องร้องขึ้นมาอีกครั้ง คดีนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งทาง ReDigi เองยืนยันว่า เทคโนโลยีของตลาดแห่งนี้ ไม่ได้ทำสำเนาไฟล์ใดๆ ขึ้นมาซ้ำเลย มีแต่เพียงการโอนถ่ายไฟล์เท่านั้น
ฝุ่นของสนามรบแห่งนี้ยังคลุกคลุ้งไม่ทันจางหาย อัศวินแห่งตลาด E-Commerce อย่าง Amazon ก็ควบม้าบุกเข้ามาแสดงตัวอย่างชัดเจนด้วยการออกสิทธิบัตรตัวใหม่ของการสร้าง “ตลาดเสมือนสำหรับซื้อขายสินค้าดิจิตัลมือสอง” เพื่อปลดแอกสร้างอิสรภาพในการใช้งานให้กับผู้บริโภคในตลาดไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ความร้อนแรงของตลาดที่ยังไม่เกิดแห่งนี้ยังไม่จบสิ้น ยักษ์ใหญ่แห่งซิลิคอนวัลเลย์อีกรายหนึ่งอย่าง Apple ก็ไม่พลาดที่จะออกโรงมารีบร่อนเอกสารสิทธิบัตรที่คล้ายคลึงกันกับของ Amazon เพื่อช่วงชิงตลาดสินค้าดิจิตัลมือสองในอนาคตข้างหน้า และได้รับการยืนยันไปเรียบร้อยแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เรามาลองจินตนาการถึงความโกลาหลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากตลาดแห่งนี้เกิดขึ้นมาจริงกันว่าจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง “ตลาด E-Book มือสอง” ระหว่าง E-Book มือหนึ่งที่ราคา $9.99 กับ E-Book มือสองที่ราคา $5.99 คงไม่ต้องถามว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้ออะไร จึงถือเป็นการบ้านของผู้สร้างตลาดดิจิตัลแห่งนี้ ในการทำหน้าที่ควบคุมการมีอยู่อย่างจำกัดของ E-Book ให้ได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น กำหนดให้ E-Book มีอายุ หรือควบคุมจำนวนครั้งในการเปลี่ยนมือ หรือกระทั่งสร้างร่องรอยการใช้งานตามหน้าหนังสือใน E-Book หากเป็นไปได้ เพราะหากขาดการควบคุมเหล่านี้ ราคา E-Book จะลดต่ำลงไปจนอาจเหลือเพียงเหรียญเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังสือที่ขายดีมากๆ
มองไปในอนาคต ช่องว่างต่างๆ จะยิ่งถูกทำให้แคบลง อิสรภาพและความยุติธรรมในการใช้งานจะเพิ่มมากขึ้น ในสักวันหนึ่ง ตลาดดิจิตัลมือสองก็จะถือกำเนิดขึ้นอย่างแน่นอน ผลการตัดสินคดีของ ReDigi ในปีนี้ จะยิ่งเป็นตัวเร่ง หรือบั่นทอนการสร้างตลาดดิจิตัลมือสองที่ต้องคอยติดตามกันต่อไป ในฝั่งผู้บริโภคนั้น ก็รอรับผลประโยชน์ไปอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะทำให้เราได้จับจ่ายซื้อสินค้าถูกลงไปมาก แถมตลาดเฉพาะแห่งนี้ก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบาย ไม่ต้องใช้การขนส่งอย่างในคดี AutoDesk แต่ความเสียหายกลับตกสู่สำนักพิมพ์ และนักเขียน ที่ถึงแม้หาก Amazon และ Apple อาจจะใจดี มีการแบ่งกำไรจากการขายสินค้ามือสองกลับคืนให้ก็ตาม สัดส่วนของรายรับก็ยังคงลดลงจากราคาตั้งต้นที่หายไปอยู่ดี การควบคุมความเสื่อมของ E-Book จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำอย่างรอบคอบที่สุด
หลักการขายครั้งแรก (First-Sale Doctrine) คืออะไร?
เป็นกฎหมายที่ถูกสถาปนาขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการครอบครองสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ต่างๆ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ เพลง เป็นต้น ที่อนุญาตให้ผู้ซื้อสินค้าลิขสิทธิ์ มีสิทธิอย่างเต็มที่ในการนำไปให้เช่า ให้ยืม บริจาค หรือขายต่อกับผู้อื่นได้ เพราะสิทธิของเจ้าของผลงานหมดสิ้นไปตั้งแต่การขายครั้งแรกแล้ว จึงไม่มีสิทธิในการควบคุมการกระทำของการขายครั้งถัดๆ ไปของผู้ถือครองตัวสินค้านั้นๆ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับสินค้าที่จับต้องได้อย่างหนังสือ แต่ก็ยังมีคดีความที่ยังฟ้องร้องกันมากมาย แม้แต่คดีของนักศึกษาไทยที่นำหนังสือเรียนอเมริกาขายในตลาด E-Bay จนถูกสำนักพิมพ์ฟ้องร้องไปเมื่อปีที่ผ่านมา
ที่มา:
- http://www.forbes.com/sites/jeremygreenfield/2013/03/11/what-happens-to-publishers-and-authors-if-a-used-ebook-market-becomes-legal/Vernor Autodesk: http://en.wikipedia.org/wiki/Vernor_v._Autodesk,_Inc.http://itlaw.wikia.com/wiki/Vernor_v._AutodeskAmazon: http://paidcontent.org/2013/02/05/amazon-wins-patent-to-create-a-marketplace-for-used-digital-content/Apple: http://www.nytimes.com/2013/03/08/technology/revolution-in-the-resale-of-digital-books-and-music.html?_r=0